My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก

ขอถือโอกาสพูดถึง My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก เล็กน้อยครับ

Tagame With Eisner Awards
อาจารย์ทากามเมะ กับ ถ้วยรางวัล Eisner Awards ภาพจาก – https://twitter.com/tagagen/status/1047364597148205056

หลายท่านน่าจะเห็นลายเส้นแล้วเข้าใจว่านี่คืองานของนักเขียนการ์ตูนเกย์ชื่อดัง ซึ่งไม่ผิดครับ อาจารย์ทากาเมะ เก็งโกโร่ เป็นนักวาดที่เติบโตมาจากการ์ตูนแนวดังกล่าวจริง แต่นอกจากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนสำหรับเกย์แล้ว อาจารย์ยังใช้ชื่อเสียงของตนเองในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ ผ่านทางสื่อต่างชาติหลายครั้ง

My Brother's Husband Thai

และมังงะเรื่อง My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงเป้าประสงค์ในการทำความเข้าใจผู้คนเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ เช่นกัน ด้วยตัวเรื่องราวที่เล่าเหตุที่ไม่เกินจริง กับการที่คู่แต่งงานของคนในครอบครัวจะมาเยี่ยมญาตินั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จากนั้นการ์ตูนก็จะเข้าเรื่องราวต่างๆ ได้แนวคิดของ ยาอิจิ ที่รู้จัก LGBTQ แบบคิดเองเออเอง กับคำถามของ คานะ เด็กประถมที่ยังไม่ประสา และ ไมค์ ที่เป็นผู้ตอบคำถามส่วนหนึ่งเท่าที่บอกเล่าได้ คำถามและคำตอบที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น เป็นคำถามไม่ยากและมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม และในเรื่องก็ไม่ได้บอกว่าวิธีการใช้ชีวิตแบบใดของ LGBTQ นั้นถูกหรือผิด เพราะในเรื่องก็พูดถึงคนที่เปิดตัว กับคนที่ไม่คิดจะเปิดตัว ซึ่งแต่ละคนนั้นมีความสะดวกใจที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น การ์ตูนเรื่องนี้ยังวิพากษ์สังคมในมุมน่าสนใจ อย่างตัว ยาอิจิ ที่เป็น พ่อเลี้ยงเดี่ยว หากินด้วยมรดกที่เขาได้รับมาจากพ่อแม่ ซึ่งบางสังคมจะมองว่าเป็นคนไม่เอาถ่าน เพราะเขาไม่ออกไปก่อร่างสร้างตัวด้วยกำลังตัวเอง แต่ในมุมของบางสังคมก็ชื่นชมว่าการเลี้ยงลูกคนเดียวแถมยังรับผิดชอบกิจการของที่บ้านนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จึงน่าชื่นชมกับเรื่องนี้

My Brother's Husband Eng

เรื่องราวของมังงะเรื่องนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงการ์ตูน Y, เกย์ หรือ LGBTQ เท่านั้น แต่เป็นการ์ตูนที่พยายามทำบอกเล่าให้เราทำความเข้าใจคนรอบตัวมากขึ้น เพราะบางทีการที่เราคิดอะไรไปก่อนเอง มันอาจจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น การพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านั้น แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะทำให้เราเห็นรูปลักษณ์ที่แท้จริงมากขึ้น แล้วถ้าโชคดีเราก็จะเข้าใจกันมากขึ้น โดยไม่เบียดเบียนสิทธิ์ของกันและกัน

ด้วยความเรียบง่ายและกินใจทำให้ My Brother’s Husband ได้รับรางวัลหลากหลายทั้งในบ้านเกิดและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัลยอดเยี่ยม สาขาหนังสือการ์ตูนจาก Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 19 โดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งญี่ปุ่น, สาขามังงะยอดเยี่ยมจากเอเซีย จากรางวัล Eisner Awards ประจำปี 2018 ฯลฯ

ถ้าสนใจ ‘ My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก’ เล่ม 1 กับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่จะวางขายภายในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ เดือนตุลาคม นี้ เช็คสินค้าได้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1822951164455582

ทั้งนี้มังงะเรื่องนี้ราคาปกจะอยู่ที่ 120 บาท เพราะมีการปรับรูปเล่มกับกระดาษจะใช้แบบเดียวกับเรื่อง สูตรลับตำรับดันเจี้ยน ครับ

[Review] Bakemono No Ko / The Boy and The Beast / ศิษย์มหัศจรรย์ กับอาจารย์พันธุ์อสูร

tumblr_ngeqjburQw1rb1rgoo1_1280

เมื่อเด็กชายต้องลาจากแม่ไปก่อนเวลาอันควร และพ่อก็หายตัวไป เขาจึงตัดสินใจหนีออกมาใช้ชีวิตคนเดียว ก่อนจะบังเอิญเจอกับ สัตว์อสูร ที่พาเขาเข้าไปสู่โลกอีกมิติที่เป็นดินแดนของเหล่าสัตว์อสูร… และได้กลายเป็นลูกศิษย์ของหนึ่งในยอดฝีมือของโลกนี้ เด็กน้อยและสัตว์อสูรยอดฝีมือจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร… นี่คือพลอทโดยคร่าวของหนังเรื่องนี้ครับ

อีกหนึ่งผลงานของ โฮโซดะ มาโมรุ ที่ได้เข้าฉายในประเทศไทย ในเรื่องนี้โฮโซดะก็ยังควบตำแหน่ง กำกับ /  เขียนบท / Original Creator อีกครั้ง และก็เป็นอีกครั้งที่เขายังวนเวียนอยู่กับเรื่องครอบครัวที่มีส่วนที่ขาดและส่วนที่เติมเต็มไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีสายเลือดเดียวกัน คราวนี้เปลี่ยนประเด็นจาก “ครอบครัวที่เป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว” ใน Wolf Children มาเป็นเรื่องของ “ครอบครัวที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน” พร้อมผสมผสานฟีลของหนังบู๊แบบอ่อนๆ เป็นปมที่ใช้เดินเรื่อง

แน่นอนว่าจุดเด่นของโฮโซดะ มาโมรุ ไม่ใช่พลอทที่ต้องตีความมาก แต่เป็นการดึงเรื่องเล็กๆ มาย้ำมาขยายจนสุด ใน Bakemono No Ko นี้ประเด็นที่โดนขยายก็คงเป็นประเด็นของ ครอบครัวที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน (หรืออีกนัยคือ เด็กกำพร้า) ที่โดนขยายจนชัดว่า แม้พวกเขาเหล่านี้จะสามารถเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งได้ แต่พวกเขาเองก็ยังอยากได้ใครอย่างน้อยอีกสักคนที่คอยประคับคองจิตใจ และอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คงเป็นเรื่องการพูดคุยกันแบบจริงใจอาจจะฟังดูใจร้ายในตอนแรก แต่กลับทำร้ายจิตใจน้อยกว่าคำโกหกที่ไม่มีวันเป็นจริงเสียอีก

โดยรวมแล้วยังเป็นงานของ โฮโซดะ มาโมรุ ที่ออกมามีรสและกลิ่นฟีลกู้ดอยู่เหมือนเคย และด้วยโอกาสที่อนิเมชั่นญี่ปุ่นที่ไม่ใช่สายหลักจะมาฉายในไทยน้อย  ดังนั้นอย่าพลาดโอกาสนี้แล้วไปชมกันในโรงใกล้บ้านท่านกันเถอะครับ

Mostly Cloudy มีเมฆเป็นส่วนมาก

ไม่แน่ใจนักว่า หนังสือเล่มนี้ของ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ตั้งใจตั้งชื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่แทบจะทุกอย่างออนไลน์อยู่ในกลุ่มเมฆ หรือ Cloud Storage หรือไม่ อันเนื่องจากหนังสือเล่มนี้พูดถึงกิจกรรมที่ข้องเกี่ยวกับโลกออนไลน์หลากหลายประการด้วยกัน

ดังนั้นท่านที่คาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะ ชิลๆ ร่าเริงไปกับแมวเหมียว และความแปลกต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวของทีปกรนั้น…ผิดถนัดครับ

อีกประการที่ควรทราบเกี่ยวกับหนังสือ Mostly Cloudly ก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความที่คุณทีปกรได้เคยเขียนเอาไว้ในนิตยสาร GM ดังนั้นผู้ที่เป็นสมาชิกประจำของ GM ก็สามารถหลีกเลี่ยงหนังสือเล่มนี้ได้เช่นกัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้มีอะไรดี ที่ทำให้ผมเสียเงินแบบไม่คิดอะไรมาก ? ตอนแรกผมก็ปลอบตัวเองว่า ตัวเองเป็นติ่งของนักเขียนท่านนี้ล่ะ ซื้อไปเหอะมึง ตามหน้าที่ทาสที่ดี #ทาสการตลาด

แต่เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอย่างจริงจังแล้ว พบว่านี่คือหนังสือที่คนใช้อินเตอร์เน็ตหนักหน่วง (ใช้มันทั้งทำงาน และ พักผ่อน มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน) แบบผมน่าซื้อมาเสพข้อมูลให้เข้าถึงโลกไซเบอร์และเทคโนโลยีที่วนเวียนอยู่รอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง uber เอย 9gag เอย หรือจะลงลึกไปถึง Crowdfunding บ้าง ยาวไปจนถึงเรื่องขอให้ Google ลบตัวตนที่ค้นหาได้เป็นต้น

ทีปกรนำคนอ่านให้เข้าใจถึงเทคโนโลยีหลายอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เขาบอกเล่าทั้งที่มา ที่ไป ปัญหาจากดินแดนผู้สร้าง ข้ามยาวมาถึงว่ามันเกี่ยวข้องกับหมู่เราชาวไทยได้อย่างไร แต่ก็ยังเว้นที่ไว้พอสมควรเพื่อให้คุณๆ ลองไปหาข้อมูลอ่านต่อได้ว่าที่เขาพูดมานั้นมันมีอะไรที่เกินเลยไปไหม หรือคนที่มองว่า “เฮ้ย ไอ้คนเขียนแม่งตอแหลป่ะว้า” จะได้รู้แจ้งเห็นจริงว่าผู้เขียนชี้นำหรือไม่อย่างไร

สรุปสั้นๆ นี่คือหนังสือรวมข่าวไอทีที่คุณควรจะรู้ ถ้าคุณไม่ชอบอะไรซีเรียสนัก หรือ ชอบใจงานแนวตลกสุขสันต์ของทีปกรมากกว่า ก็ควรเลี่ยงเล่มนี้ไป แต่ถ้าคุณเป็นรู้จักมาสเตอร์แชมป์มาตั้งแต่สมัยที่แกดูแลเว็บสังคอมออนไลน์แห่งหนึ่ง คุณจะได้สนุกกับการเห็นเขาเติบโตขึ้น น้ำหนักลดลง หน้าตาดีขึ้น กระนั้นการจิกกัดให้เจ็บปวดพร้อมสาระสไตล์เขายังอยู่ หรืออาจจะคบกริบกว่าเดิมก็ได้

อ้อ … คหสต. นะครับ (อ้างอิงจากบทที่ 17 ของหนังสือเล่มนี้)

วันแม่สำหรับผม

ผมบ่นในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คไปว่า “โดนบิ้วท์เรื่องวันแม่ จนรู้สึกว่าที่เราอยู่กับแม่ทุกวันนี่มันไม่พอนะมึง มึงต้องทำมากกว่านี้อีก” อันเนื่องจากปีนี้ดูสินค้าต่างๆ / สื่อต่างๆ ข้ามยาวมาถึง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หยิบยกความงามของการทำดีต่อแม่มากกว่าหลายปีที่ผ่านมาพิกล

ผมแอ นตี้เรื่องเหล่านั้นหรือเปล่า ? บอกเลยว่าไม่ พูดได้ว่าอยู่ในฝั่งที่เห็นด้วยกับการแสดงความรักของลูกกับแม่ให้มากขึ้น ด้วยซ้ำ เพราะวัฒนธรรมบ้านเราออกจะมีการแสดงแบบถึงเนื้อถึงตัวกันน้อยไปนิดหนึ่งด้วย ซ้ำ

จุดที่ผมออกจะเบื่อคือการชี้นำให้เหล่าลูกๆ ออกไปแสดงความรู้สึกด้วยการซื้อสินค้าแพงเกินตัว / เข้าร้านอาหารที่ปกติต้องมองราคาซ้ำแล้วซ้ำอีกก่อนเข้า ว่ากันโดยง่ายคือการบีบให้คนใช้เงินเกินตัวในวันแม่ นั่นแหละที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเคเอาเสียเลย แต่ การรณรงค์แบบง่ายๆ หลายอย่างแบบ โทรไปหาแม่บ้าง / กินข้าวกับแม่แบบสมตัว หรือ การใช้เวลากับแม่นานกว่าปกติเสียหน่อยนี่ผมยังแฮปปี้และพร้อมรับได้อยู่นะ

แล้ว ทำไมถึงมีจุดไม่เห็นด้วยล่ะ ? คุณไม่มีจิตใจนึกถึงมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิตคุณหน่อยเหรอ ? วันพิเศษของคนเป็นแม่ทำให้มันอลังการกว่ามันไม่ได้เหรอ ? หรือคุณไม่อยู่ในกับแม่คุณเลยไม่เข้าใจความพิเศษของวันดังกล่าวนี้หรือไง ?

เปล่า เลยครับ เปล่าเลย ในทางกลับกันผมเป็นคนที่ติดแม่ และอยู่กับแม่มากกว่าพ่อเสียด้วยซ้ำ แม้กระทั่งตอนนี้เองผมก็ดูแลแม่ที่พิการทางสมองอยู่ทุกวันครับ

ของจริง แต่ใส่ภาพให้ดราม่าเพิ่มพูนโดยตั้งใจแล

ด้วยเหตุนี้ผมเลยเข้าใจได้อย่างดีว่า ความพิเศษของการอยู่กับแม่ ไม่ต้องอลังการ ไม่ต้องเกินตัว ขอเพียงใช้แรงเท่าที่เรามีและสามารถในการดูแลแม่ และวันแม่ของคุณอาจจะไม่ต้องมีวันเดียว ในช่วงวันทำงานคุณอาจจะทำงาน วันหยุดสักวันอาจจะเสียไปกับเพื่อนหรือคนรัก ลองปันเวลาแค่สักชั่วโมงต่อสัปดาห์มาเสียเวลาอยู่กับแม่มากขึ้น ชีวิตของคุณกับแม่จะสนิทชิดเชื้อมากขึ้น และเข้าใจได้โดยง่ายว่าทำไมบางทีแม่เราดราม่าในบางแง่มุมสำหรับชีวิตเรา

ขอบคุณที่มาอ่านคำบ่นๆ ของผม และขอให้ทุกท่านพยายามอย่างเต็มกำลังและมีความสุขในช่วงวันแม่นี้ครับ